โดย เชตวัน เตือประโคน
บรรยากาศค่ำคืนนั้นเต็มไปด้วยความอลังการตระการตา การแสดง แสง-สี-เสียง ของบรรดานิสิต-นักศึกษา "มหาวิทยาลัยเทียนจิน นอร์มอล (Tianjin Normal University)" สาธารณรัฐประชาชนจีน ไม่ต่างอะไรจากผลงานการสร้างของทีมงานมืออาชีพ อรรถรสครบครัน จนผู้มาเยือนจากแดนไกลบางคน ถึงกับเปรยขึ้นว่า ไม่คิดว่าจะยิ่งใหญ่และได้รับการต้อนรับดีถึงเพียงนี้
ผู้มาเยือนคือ คณะอาจารย์และกรรมการ สภามหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา
โดยคณะจากเมืองไทย ได้รับเชิญให้ไปร่วมงาน "ฉลองครบรอบ 50 ปี มหาวิทยาลัยเทียนจิน นอร์มอล"
"มหาวิทยาลัยเทียนจิน นอร์มอล เป็นมหาวิทยาลัยพี่เลี้ยงในการก่อตั้ง "สถาบันขงจื้อ" ให้กับเรา โดยในปีนี้ ทางมหาวิทยาลัยเขาได้จัดงานฉลองอายุครบ 50 ปี ตอนแรก เขาเชิญผู้บริหารเพียงไม่กี่คนมาร่วมงาน แต่ผมคิดว่า น่าจะพาคณะกรรมการสภาของมหาวิทยาลัยมาด้วย ซึ่งเขาก็ยินดีเป็นอย่างยิ่ง เหมือนกับว่าเราให้เกียรติเขาด้วยที่มากันมาก คณะของเราจึงเป็นคณะที่ใหญ่ที่สุดที่มาร่วมงานฉลองครั้งนี้ มากันถึง 23 คน ได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจนเรารู้สึกเกรงใจ" สุพล วุฒิเสน อธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา เล่าให้ฟังถึงการข้ามน้ำข้ามทะเลมาเยือนเมืองจีนครั้งนี้
แต่สำหรับเรื่อง "สถาบันขงจื้อ" ต้องฟังจาก "สมชาย พรหมสุวรรณ" รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ผู้ได้รับมอบหมายให้ดูแล
สมชายเล่าให้ฟังถึงที่มาที่ไปของการก่อตั้งสถาบันขงจื้อว่า เป็นสถาบันที่ได้รับการอนุมัติให้ก่อตั้งโดยหน่วยงานกลางของสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่ชื่อ "ฮ้านบ้าน (Hanban: National Office for Teaching Chinese as a Foreing Language) มีจุดประสงค์หลักคือ การสอนภาษาและเผยแพร่วัฒนธรรมจีน สถาบันขงจื้อได้ก่อตั้งมาแล้ว 210 แห่งใน 64 ประเทศทั่วโลก ในประเทศไทยเองก็มีอยู่ด้วยกันถึง 12 แห่ง แต่ส่วนใหญ่จะอยู่ในมหาวิทยาลัยใหญ่ๆ อย่างเช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ฯลฯ ในส่วนของมหาวิทยาลัยราชภัฏนั้น มีเพียงสองแห่ง คือ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต และมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา
"เราได้รับการทาบทามจาก มหาวิทยาลัยในจีนหลายแห่ง ตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา ถามว่ามีความประสงค์จะตั้งสถาบันขงจื้อมั้ย? กระทั่งมหาวิทยาลัยเทียนจินฯติดต่อมา ซึ่งเป็นจังหวะเดียวกับที่เราลงนามความเข้าใจร่วมกันด้านการศึกษา และเราได้ส่งนักศึกษาไปเรียนปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้ด้วย ทำให้รู้จักกัน ไว้เนื้อเชื่อใจกัน ท่านอธิการบดีจึงตอบรับให้ตั้งสถาบันขงจื้อได้
"มองว่านี่จะเป็นการเพิ่มโอกาสการศึกษาภาษาจีนให้นักศึกษาและคนในชุมชน แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย การจะตั้งสถาบันขงจื้อได้ ต้องได้รับการอนุมัติจากหน่วยงานกลางของจีน เราต้องไปนำเสนอกับเขาด้วย ว่าจะดำเนินการอย่างไร ตอนนั้น ตัวแทนจากสภามหาวิทยาลัยของเรา และมหาวิทยาลัยเทียนจิน นอร์มอล ก็ไปนำเสนอกัน ทางการจีนเห็นว่ามีความตั้งใจ เลยอนุมัติ ถือเป็นเกียรติยศของมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยาเป็นอย่างมาก" สมชายกล่าว
เมื่อหน่วยงานกลางของจีนอนุมัติ ก็ต้องตั้งคณะกรรมการทำงานให้สมบูรณ์
รูปแบบของทีมงานดำเนินการให้สถาบันขงจื้อขับเคลื่อนไปได้ แบ่งออกเป็นสองส่วน 1.คือ คณะทำงานจากเมืองจีน ที่มาจากมหาวิทยาลัยเทียนจิน นอร์มอล ซึ่งจะมีผู้อำนวยการสถาบัน 1 คน ทีมงานอีก 2-3 คน และครูอาสา อีก 2-3 คน และ 2.คณะทำงานฝ่ายไทย ที่มีผู้อำนวยการสถาบัน 1 คน และทีมงานเฉกเช่นเดียวกับทางฝ่ายจีน
ทีมงานทั้งสองฝ่าย จะอยู่ภายใต้ความดูแลของรองอธิการบดี-สมชาย พรหมสุวรรณ อีกครั้งหนึ่ง
สมชายเล่าให้ฟังต่อว่า ได้มีการทำพิธีเปิดสถาบันขงจื้ออย่างยิ่งใหญ่ เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ถึงวันนี้ก็สองปีกว่าแล้ว ที่ "สถาบันขงจื้อ" ได้มาก่อตั้งที่ชั้น 13 ตึกสำนักงานอธิการบดี โดยมีห้องทำงานของผู้อำนวยการสถาบัน ห้องทำงานของเจ้าหน้าที่ ห้องจัดแสดงนิทรรศการ ห้องคอมพิวเตอร์ รวมถึงห้องสมุดที่เปิดโอกาสให้ทุกคนได้เข้ามาค้นคว้าและเรียนรู้เกี่ยวกับ ภาษาและวัฒนธรรมจีน
"งบประมาณในการดำเนินการต่างๆ เป็นเงินลงทุนที่มาจากทางรัฐบาลจีน โดยให้เงินผ่านมหาวิทยาลัยพี่เลี้ยงอีกต่อหนึ่ง เพื่อก่อตั้งออฟฟิศและอุปกรณ์สำนักงานต่างๆ เรามีเพียงห้องโล่งๆ ให้ และในแต่ละปี การจะได้เงินมาดำเนินกิจกรรมต่างๆ ก็มาจากรัฐบาลจีนอีกเช่นกัน เพียงแต่ว่าเราต้องเขียนโครงการเสนอเขาไป" สมชายกล่าว
สำหรับผลงานของสถาบันขงจื้อในรอบ 2 ปีที่มา ได้แก่ การจัดอบรบให้กับครูสอนภาษาจีน สังกัดกรุงเทพมหานคร, การจัดสอนภาษาจีนให้กับคนในชุมชนโดยรอบ, การจัดสอนภาษาจีนให้กับนิสิต-นักศึกษาในสถาบัน นอกจากนี้ ยังมีการจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับประเพณีวัฒนธรรมจีน มีการแข่งขันตอบคำถามแข่งขัน การประกวดพูดจีน การปาฐกถาภาษาจีน ซึ่งบางครั้งก็มอบรางวัลให้นักศึกษา เป็นทุนไปเรียนที่เมืองจีนหลายเดือน
แต่โดยหลักๆ แล้วคณะครูอาจารย์ของสถาบันขงจื้อ จะรับหน้าที่สอนภาษาจีนและวัฒนธรรมจีนให้กับนักศึกษาของสถาบันเป็นสำคัญ
โดยเฉพาะนักศึกษา สาขาวิชา เอกภาษาจีน ที่จะผูกพันกับครูอาจารย์ของสถาบันนี้ถึง 4 ปีเต็ม ที่ผ่านมา ก่อนมีการก่อตั้งสถาบันขงจื้อ การเรียนการสอนภาษาษาจีนให้กับนักศึกษา เป็นไปในรูปแบบการจ้างครูมาสอน ซึ่งก็เป็นเรื่องที่สามารถทำได้ หากแต่ไม่เหมือนกับการเรียนจากเจ้าของภาษา ที่ถือเป็นมืออาชีพ
"ถึงวันนี้ เราถือว่าสถาบันขงจื้อประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก เพราะครู-อาจารย์ของสถาบันนี้ ได้จัดการเรียนการสอนให้กับบุคคลภายนอก นักศึกษา หรือหรือแม้กระทั่งครูอาจารย์ของเราเอง ทำให้บรรยากาศการเรียนรู้ภาษาและวัฒนธรรมจีนตื่นตัวขึ้นเป็นอย่างมาก ทุกวันนี้ คนที่มีลูกเริ่มคิดหนักแล้วว่า จะให้ลูกเรียนภาษาจีน หรืออังกฤษ ดี เพราะปัจจุบัน เริ่มมีความสำคัญพอๆ กัน
"แนวโน้มอย่างนี้ ชี้ว่า เราจะเฉยเมยกับภาษาจีนไม่ได้อีกแล้ว เพราะเราต้องใกล้กับประเทศจีนมากขึ้น ทั้ง สินค้า เทคโนโลยี ถ้าไม่ตื่นตัว ไม่หันไปมองเขา คงไม่ได้แล้ว" รองอธิการบดี ผู้รับผิดชอบดูแลสถาบันขงจื้อวิเคราะห์ และสำหรับแผนงานในอนาคต เขาบอกว่า คงยังทำกิจกรรมเหมือนเดิม คือ การอบรมให้ความรู้กับชุมชนรอบนอกไป เช่นดังที่ได้เปิดอบรมให้กับครูในสังกัดกรุงเทพมหานคร หรือหน่วยงานอื่นๆ ก็สามารถติดต่อมาได้ และใกล้เข้ามา เป็นการเปิดอบรมให้กับคนในชุมชนโดยรอบ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา และที่ใกล้เข้ามามากที่สุดคือ จัดการเรียนการสอนให้กับนักศึกษาของสถาบันเอง
ส่วนเรื่องอื่นๆ ที่จะต้องทำเพิ่มมากขึ้น คือ การถ่ายทอดวัฒนธรรมจีน เช่น การเขียนภาพพู่กันจีน งานศิลปะต่างๆ อาหาร เทคโนโลยี รวมถึงการค้า ซึ่งอาจจะมีขึ้น
"การค้าอาจเป็นไปในทำนองว่า เรามีอะไรจะขายกันมั้ย ดูผ่านตัวแทนเครือข่าย ดูช่องทาง สมมุติว่า ในจังหวัดเมืองกาญจนบุรี ยังมีบุคคลที่ไม่ได้ประกอบอาชีพ หากทางจีนมีเทคโนฯอะไร ก็อาจจะติดต่อให้ไปสอน แล้วนำผลิตภัณฑ์นั้นๆ ไปขายที่จีน เป็นลักษณะการเชื่อมธุรกิจ" สมชายกล่าว
กับตำแหน่งประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก เมื่อก่อน ไม่เคยมีใครสนใจสาธารณรัฐประชาชนจีน ส่วนหนึ่ง อาจเนื่องจาก "ดินแดนมังกร" แห่งนี้ปิด แต่ถึงวันนี้-วันที่ "มังกรเปิดกรงเล็บ"- เปิดประเทศ ด้วยต้นทุนที่เข้มแข็ง มีวัฒนธรรมยาวนานนับพันปี ร่วมกับวัฒนธรรมอียิปต์ วัฒนธรรมอินเดีย พบว่า จีนมีอะไรอีกหลายๆ อย่างที่เราคาดไม่ถึง
คล้ายๆ กับว่า ลมตะวันตกกำลังจะพัดกลับสู่ตะวันออก แหล่งความรู้ ภูมิปัญญา อีกฟากฝั่งหนึ่งของทวีป ไม่ใช่ถิ่นที่คนเอเชียจะต้องดิ้นรนไปอีกแล้ว ลองดูตัวอย่างการจัดงาน "โอลิมปิคเกมส์" ที่เพิ่งผ่านมา หรือแม้แต่การจัดเฉลิมฉลองครบรอบ 50 ปี ของ มหาวิทยาลัยเทียนจิน นอร์มอล ในค่ำคืนนั้น เราจะเห็นได้ถึงความยิ่งใหญ่ของชาวจีน
"สถาบันขงจื้อ" ดูเหมือนจะเป็นอีกแหล่งความรู้หนึ่ง ที่จะทำให้เราเข้าใกล้ และรู้จัก ประเทศมหาอำนาจอย่าง "สาธารณรัฐประชาชนจีน" ได้มากขึ้น
มุมมองของคนรุ่นใหม่กับ"สถาบันขงจื้อ"
หลังกลับมาจากเมืองจีน แวะไปเยื่ยมชมสถาบันขงจื้อ ที่ชั้น 13 ตึกสำนักงานอธิการบดี มีโอกาสได้พูดคุยกับ "ภนัชกร ชัยเมืองชื่น" และ "กนกวรรณ ชัยเมืองชื่น" พี่น้องฝาแฝด เรียนอยู่ชั้นปีที่ 3 คณะมนุษยศาสตร์ สาขาวิชาเอก ภาษาจีน ทั้งสองผูกพันอยู่กับสถาบันขงจื้อเป็นอย่างมาก
ภนัชกรบอกว่า สถาบันขงจื้อมีประโยชน์ต่อนักศึกษาอย่างมาก เพราะครูอาจารย์ที่มาสอนภาษาจีนให้นั้น เป็นเจ้าของภาษา สอนได้ดี และก็รู้สึกได้เลยว่า การที่มีอาจารย์จากประเทศจีนจริงๆ มาสอนหนังสือ ทำให้ทักษะทางภาษาของตัวเองพัฒนาเป็นอย่างมาก สังเกตได้ว่าทักษะการฟัง การพูดดีขึ้น
"ได้มีส่วนร่วมกับกิจกรรมของสถาบันขงจื้อทุกปี ไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันพูดสุนทรพจน์ภาษาจีน หรือกิจกรรมวันสำคัญของจีน ก็ได้ร่วมกันแสดง สำหรับที่สถาบันขงจื้อ ชอบมาเข้าห้องสมุด และมายืมหนังสือที่นี่บ่อยๆ ครูอาจารย์ชาวจีนให้ความสนิทสนมกับนักศึกษาดี" ภนัชกรกล่าว
ทางด้านกนกวรรณบอกว่า รู้สึกดีที่สถาบันขงจื้อมาตั้งในมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ตอนเข้ามาเรียนปี 1 ยังไม่มีสถาบันนี้ เรียนภาษาจีนกับอาจารย์คนไทย ยังรู้สึกว่า ไม่มีการสนทนาอย่างจริงๆ จังๆ พอมีการตั้งสถาบันขงจื้อ มีอาจารย์จากประเทศจีนมาสอน ทำให้ได้ใช้ภาษาจีนอย่างจริงจังขึ้น ทั้งยังมีการจัดกิจกรรมต่างๆ ให้นักศึกษาได้แสดงความสามารถ เช่น การแข่งขันสุนทรพจน์ การแสดงวัฒนธรรมจีน ในวันสำคัญต่างๆ ของชาวจีน
"ภาษาจีนมีความสำคัญ พอๆ กับภาษาอังกฤษ เพราะทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเรื่องการค้า วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของจีนมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ฉะนั้น การเรียนรู้ภาษาจีน จึงเป็นช่องทางหนึ่งที่จะทำให้เราติดต่อกับชาวจีนได้สะดวกขึ้น ที่ผ่านมาไทย-จีน เองก็มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน การที่มีนักศึกษาจากทั้งสองประเทศ ได้แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมซึ่งกันและกัน เป็นเรื่องที่ดี" กนกวรรณแสดงความคิดเห็น
Credit : มติชนรายวัน วันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2551 หน้า 20